26 สิงหาคม 2567
การนำแนวทาง ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล) มาใช้ในธุรกิจไม่ใช่แค่การตอบสนองต่อกระแสการทำความดี แต่เป็นเมกะเทรนด์ระดับโลกที่ทุกองค์กรต้องให้ความสำคัญเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ESG ถือเป็นส่วนสำคัญเชิงกลยุทธ์สำหรับภาคธุรกิจ เพราะช่วยให้บริษัทสามารถจัดการความเสี่ยงและรักษาความยั่งยืนในระยะยาว
ยูนิลีเวอร์กับโมเดลพลังงานหมุนเวียน 100%
ยูนิลีเวอร์ได้ประกาศแผนปฏิบัติการเพื่อการเปลี่ยนผ่านสภาพอากาศ (Climate Transition Action Plan : CTAP) ในปี 2020 โดยมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2039
ในประเทศไทย กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย ได้นำแผน CTAP มาปฏิบัติและประสบความสำเร็จในการพัฒนาโรงงานเกตเวย์ในเขตนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ให้ได้รับการรับรองเป็นโรงงานที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ในปี 2023 โรงงานเกตเวย์เป็นแหล่งผลิตอาหารและสินค้าให้กับร้านค้าปลีกและค้าส่งของยูนิลีเวอร์ โดยการดำเนินงานด้านความยั่งยืนทางสภาพภูมิอากาศของโรงงานนี้ประกอบด้วย
- พลังงานไอน้ำ : แทนการใช้น้ำมันเตาที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ด้วยการใช้หม้อต้ม (Boiler) เชื้อเพลิงชีวมวลสำหรับกระบวนการผลิต ปัจจุบันมีหม้อต้มขนาดใหญ่ 3 ตัน ทีมงานกำลังค้นหาผู้ผลิตเศษไม้ที่มีแหล่งที่มาที่ถูกต้องและกระบวนการผลิต Wood Pellet ที่ผ่านมาตรฐาน รวมถึงการขนส่ง และยังมองหาเชื้อเพลิงชีวมวลในรูปแบบอื่นเป็นแผนสำรอง เพื่อควบคุมอุณหภูมิในกระบวนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ
- พลังงานไฟฟ้า : ซื้อพลังงานหมุนเวียนจากผู้ที่ได้รับใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificates: RECs) ในประเทศไทย เพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอนจากการผลิตไฟฟ้า และทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อศึกษาและหาแหล่งพลังงานทดแทน 100% ที่จะจัดจำหน่ายให้กับยูนิลีเวอร์
- พลังงานแสงอาทิตย์ : ติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนอาคาร กำลังการผลิต 560 กิโลวัตต์ เพื่อผลิตพลังงานสะอาด
- สารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม : ยูนิลีเวอร์ได้ยกเลิกการใช้สารทำความเย็นที่เป็นก๊าซเรือนกระจก และเปลี่ยนไปใช้สารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งหมดตั้งแต่เดือนธันวาคม 2021 โดยยังคงรักษาประสิทธิภาพในการทำความเย็นได้อย่างดี
HSBC ช่วยลูกค้าองค์กรลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope 3
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope 3 ซึ่งเป็นการปล่อยก๊าซทางอ้อมจากห่วงโซ่อุปทาน ถือเป็นความท้าทายสำคัญที่หลายองค์กรต้องเผชิญเนื่องจากยากต่อการควบคุม อย่างไรก็ตาม ยังมีวิธีการที่องค์กรสามารถนำมาใช้เพื่อลดผลกระทบดังกล่าวได้
ธนาคาร HSBC ประเทศไทย เข้าใจถึงความต้องการของลูกค้าองค์กรในการเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) โดยได้เปิดตัว “สินเชื่อเพื่อห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน” (Sustainable Supply Chain Finance) ซึ่งมุ่งช่วยเหลือกลุ่มลูกค้าองค์กรของ HSBC ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope 3 พร้อมทั้งสนับสนุนกลุ่ม SMEs ซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจของลูกค้าองค์กรเหล่านั้นด้วยการให้สินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง
กลไกการดำเนินงานของ Sustainable Supply Chain Finance ประกอบด้วย
- ผู้ซื้อ (ลูกค้าองค์กรของ HSBC) : กำหนดเป้าหมายและพัฒนาโปรแกรมวัดผลการดำเนินงานของซัพพลายเออร์ SMEs ที่อาจต้องการเงินทุนเพื่อใช้ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรตนเอง
- ธนาคาร (HSBC) : ทำหน้าที่เป็นผู้ให้สินเชื่อแก่ซัพพลายเออร์ SMEs
- ซัพพลายเออร์ SMEs (คู่ค้าของลูกค้าองค์กรของ HSBC) : นำเงินทุนที่ได้รับไปใช้ในโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือโครงการที่เกี่ยวกับความยั่งยืนต่างๆ
กรณีศึกษา Walmart กับโครงการสินเชื่อเพื่อห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน
Walmart มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 1,000 ล้านเมตริกตันภายในปี 2030 จึงได้ตัดสินใจใช้สินเชื่อของ HSBC เพื่อดึงดูดซัพพลายเออร์ให้เข้าร่วมโครงการ โดยในปี 2017 Walmart ได้เปิดตัวโครงการ Project Gigaton ซึ่งเป็นตัวชี้วัดการดำเนินงานของซัพพลายเออร์ และหากซัพพลายเออร์สามารถแสดงความคืบหน้าด้านความยั่งยืนตามข้อกำหนดใน 6 เสาหลักของ Walmart ได้แก่ พลังงาน ของเสีย บรรจุภัณฑ์ ธรรมชาติ การขนส่ง และการใช้ผลิตภัณฑ์ พวกเขาก็จะได้รับสินเชื่อจาก HSBC
หลังจาก Walmart นำสินเชื่อเพื่อห่วงโซ่อุปทานมาบูรณาการกับ Project Gigaton ผลลัพธ์ที่ได้คือการเพิ่มจำนวนซัพพลายเออร์ที่เข้าร่วมโครงการสมัครใจนี้จาก 200-300 รายเป็นมากกว่า 5,000 ราย ทำให้ Walmart สามารถเข้าถึงเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากขึ้น
สตาร์บัคส์มุ่งหน้าสู่อนาคตสีเขียว ลดคาร์บอน ขยะ และการใช้น้ำลงครึ่งหนึ่ง
บริษัทสตาร์บัคส์มีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การใช้น้ำ และการสร้างขยะลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 ในทุกประเทศที่บริษัทดำเนินธุรกิจอยู่ โดยการดำเนินงานจะครอบคลุม 5 ด้านหลัก ดังนี้
- เพิ่มตัวเลือกเมนูที่เป็นอาหารจากพืช (plant-based) เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
- เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวให้เป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้
- ลงทุนในเกษตรกรรมฟื้นฟู การปลูกป่าทดแทน การอนุรักษ์ป่า และการเติมน้ำในห่วงโซ่อุปทานของบริษัท
- มุ่งเน้นการหาวิธีจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
- นำเสนอนวัตกรรมในการดำเนินงาน การผลิต และการจัดส่งที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ในประเทศไทย สตาร์บัคส์ได้ปฏิบัติตามกรอบความยั่งยืนนี้อย่างต่อเนื่อง โดยในด้านการจัดการขยะ ได้ดำเนินโครงการ “LITTLE CHOICES. BIG CHANGES.” ซึ่งสนับสนุนให้ลูกค้านำแก้วส่วนตัวมาใช้ โดยมอบส่วนลด 10 บาทเป็นแรงจูงใจ เพื่อบรรลุเป้าหมายลดขยะจากแก้วพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งให้ได้ 50% หรือกว่า 3 ล้านใบ และตั้งแต่ปี 2541 บริษัทสามารถลดขยะไปแล้วกว่า 29 ล้านใบ
นอกจากนี้ สตาร์บัคส์ ประเทศไทยยังมีความตั้งใจที่จะเพิ่มจำนวนสาขา Greener Store จาก 12 สาขาในปัจจุบันเป็น 20 สาขาภายในปี 2567 โดย Greener Store เป็นร้านที่ใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคุมด้วยระบบการบริหารจัดการพลังงานที่จัดเก็บข้อมูลแบบเรียลไทม์ เพื่อปรับปรุงการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในอนาคต
ทิศทางใหม่ของเซ็นทรัล
“กลุ่มเซ็นทรัล” ได้ดำเนินการขับเคลื่อนความยั่งยืนผ่านโครงการ “เซ็นทรัล ทำ” (Central Tham) ซึ่งมีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) โครงการนี้เน้นการสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Value: CSV) โดยการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน องค์กร และชุมชนต่างๆ
ในปี 2566 ที่ผ่านมา โครงการ Central Tham สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้ถึง 1,700 ล้านบาทต่อปี ส่งผลให้ชุมชนกว่า 150,000 คนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถสร้างงานและสนับสนุนอาชีพให้กับคนพิการถึง 1,011 คน
หนึ่งในภารกิจสำคัญของ “เซ็นทรัล ทำ” คือ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งประกอบด้วยโครงการต่างๆ เช่น
- เกษตรอินทรีย์แม่ทา : อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่: ตั้งแต่ปี 2560 โครงการนี้ได้ร่วมกับมูลนิธิสายใยแผ่นดินในการส่งเสริมการทำเกษตรกรรมยั่งยืนบนพื้นที่ 9 ไร่ และสนับสนุนเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ปัจจุบันชุมชนแม่ทาได้ขยายผลการดำเนินงานไปยังการจัดทำโฮมสเตย์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวิถีเกษตรอินทรีย์ สร้างรายได้ให้กับชุมชนมากกว่า 8.4 ล้านบาทในปี 2023 โดยมีชุมชนเข้าร่วมกว่า 110 ราย
- จริงใจฟาร์มเมอร์ มาร์เก็ต : มีทั้งหมด 33 สาขา ใน 29 จังหวัดทั่วประเทศ โดยในปี 2566 ตลาดนี้สามารถสร้างรายได้กว่า 231 ล้านบาท ให้กับเกษตรกรกว่า 10,200 ครัวเรือน
- Good Goods (กุ๊ด กุ๊ดส์) : ร้านจำหน่ายสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีการออกแบบร่วมสมัย กำไรจากการจำหน่ายสินค้าทั้งหมดจะถูกนำกลับไปพัฒนาชุมชน ปัจจุบันมีร้าน Good Goods 3 สาขา ได้แก่ คอนเซ็ปต์สโตร์ที่เซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 1 สาขาโครงการจริงใจ มาร์เก็ต จังหวัดเชียงใหม่ และสาขาใหม่ล่าสุดที่เซ็นทรัลภูเก็ต
แหล่งที่มา : https://www.prachachat.net/sd-plus/sdplus-sustainability/news-1634623