Home » ปรับตัวสู่มาตรฐาน ESG ก้าวทัน IFRS S1 และ S2

ปรับตัวสู่มาตรฐาน ESG ก้าวทัน IFRS S1 และ S2

by Andrew Day
8 views

12 ตุลาคม 2567

ในตอนก่อนหน้านี้ ผู้เขียนได้กล่าวถึงหลักการ “double materiality” หรือสาระสำคัญสองทางซึ่งถือเป็นหัวใจของมาตรฐาน ESG ระดับโลกหลายฉบับ รวมถึงเป็นส่วนสำคัญในกฎหมาย ESG ของสหภาพยุโรป เช่น European Sustainability Reporting Standards (ESRS) โดยหลักการนี้กำหนดให้บริษัทต้องเข้าใจถึงผลกระทบที่บริษัทมีต่อประเด็น ESG และในขณะเดียวกันต้องประเมินว่าประเด็น ESG เหล่านั้นจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างไร

ตัวอย่างเช่น สำหรับปัญหาภาวะโลกรวน บริษัทต้องรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อแสดงให้เห็นว่ามีส่วนสร้างผลกระทบต่อภาวะโลกรวนอย่างไร นอกจากนี้ ยังต้องอธิบายถึงการประเมินและจัดการความเสี่ยงจากภาวะโลกรวนที่อาจส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ

มาตรฐาน ESG ระดับโลก

แม้ว่ามาตรฐาน ESG ส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะเป็นมาตรฐานโดยสมัครใจ แต่บางมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับมากก็มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นมาตรฐานบังคับ โดยเฉพาะสำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

มาตรฐาน ESG ที่มีแนวโน้มได้รับความนิยมและอาจกลายเป็นมาตรฐานบังคับในหลายประเทศคือ IFRS S1 (สำหรับประเด็น ESG นอกเหนือจากภาวะโลกรวน) และ IFRS S2 (สำหรับประเด็นที่เกี่ยวกับภาวะโลกรวน) ซึ่งทั้งสองมาตรฐานนี้ออกโดย IFRS Foundation สถาบันที่อยู่เบื้องหลังมาตรฐานบัญชี IFRS ที่ใช้กันแพร่หลายทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย

หลังการประกาศ IFRS S1 และ S2 ในปี 2023 หลายประเทศ เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ ได้ประกาศให้บริษัทจดทะเบียนปฏิบัติตามมาตรฐานเหล่านี้ ซึ่งเน้นการรายงานด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและข้อมูล ESG อื่นๆ ตามระยะเวลาที่กำหนด

วันนี้ ผู้เขียนขอชวนมาดูหลักการและวิธีทำงานของ IFRS S1 โดยวัตถุประสงค์ของ IFRS S1 คือ การให้องค์กรเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งบการเงินทั่วไปในการตัดสินใจลงทุน

IFRS S1 เป็นมาตรฐานแบบสาระสำคัญทางเดียวหรือ single materiality ซึ่งหมายความว่าบริษัทต้องเปิดเผยเฉพาะความเสี่ยงและโอกาสจากประเด็น ESG โดยไม่จำเป็นต้องรายงานผลกระทบที่บริษัทมีต่อประเด็นนั้นๆ ซึ่งแตกต่างจากมาตรฐาน GRI และกฎหมาย ESRS ของยุโรปที่เน้นการประเมินผลกระทบที่บริษัทมีต่อประเด็น ESG

เป้าหมายหลักของการรายงานตาม IFRS S1 คือ ผู้ใช้งบการเงินทั่วไป เช่น นักลงทุน นักวิเคราะห์ และผู้ถือหุ้น ซึ่งต่างจากกฎหมาย ESRS ที่กำหนดให้บริษัทคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ เช่นกัน

สรุปแล้ว บริษัทต้องรายงานข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนที่คาดหมายอย่างมีเหตุมีผลว่าจะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการและกระแสเงินสดของบริษัทในระยะสั้น กลาง หรือยาว

2.ปรับตัวสู่มาตรฐาน ESG ก้าวทัน IFRS S1 และ S2

วิธีการจัดเตรียมและรายงานข้อมูลตาม IFRS S1

IFRS S1 กำหนดแนวทางสำหรับบริษัทในการจัดทำและรายงานข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงและโอกาสที่เกิดจากประเด็น ESG (“ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน“) โดยครอบคลุม 4 มิติสำคัญ ได้แก่

  1. การกำกับดูแลและกระบวนการที่ใช้ในการติดตาม จัดการ และดูแลประเด็นเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน
  2. กลยุทธ์ในการจัดการกับประเด็นเหล่านี้
  3. กระบวนการในการระบุ ประเมิน และจัดลำดับความสำคัญของความเสี่ยงและโอกาส
  4. ผลประกอบการที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงและโอกาส รวมถึงความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายที่ประกาศไว้หรือที่กำหนดโดยกฎหมาย

แม้ว่าข้อกำหนดของ IFRS S1 จะเน้นสาระสำคัญทางเดียวหรือ single materiality ซึ่งให้บริษัทพิจารณาเฉพาะผลกระทบของประเด็น ESG ที่มีต่อตนเองเท่านั้น แต่ผู้เขียนเห็นว่าบริษัทก็ยังต้องเข้าใจผลกระทบที่ตนเองสร้างขึ้นต่อประเด็น ESG ต่างๆ เพราะส่งผลต่อการประเมินความเสี่ยงและโอกาสของบริษัท เช่น หากบริษัทที่พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติได้รับผลกระทบจากคุณภาพและการเข้าถึงทรัพยากร ปัญหานี้ก็อาจส่งผลกระทบต่อกลยุทธ์และผลประกอบการทางการเงินของบริษัทในที่สุด

ตัวอย่างอื่นเช่น หากบริษัทที่ทำธุรกิจที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญ ความสามารถในการดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีทักษะเหล่านี้จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จในอนาคต ซึ่งขึ้นอยู่กับธรรมเนียมการจ้างงานและการดูแลพนักงานของบริษัทเอง

IFRS S1 ยังระบุว่าบริษัทต้องแสดงให้เห็นว่ากระบวนการระบุ ประเมิน และจัดการความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนได้ถูกรวมเข้าไปในกระบวนการบริหารความเสี่ยงโดยรวมของบริษัทแล้ว โดยบริษัทต้องเปิดเผยกระบวนการเหล่านี้อย่างละเอียด รวมถึงวิธีการประเมินและจัดลำดับความสำคัญของความเสี่ยง

ในส่วนของตัวชี้วัดและเป้าหมาย (metrics and targets) IFRS S1 เปิดโอกาสให้ใช้ตัวชี้วัดตามมาตรฐานการบัญชีเพื่อความยั่งยืน SASB มาตรฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือตัวชี้วัดที่พัฒนาขึ้นเอง โดยบริษัทต้องเปิดเผยวิธีการสร้างตัวชี้วัด รายงานข้อมูลที่ใช้ และระบุว่าการวัดผลถูกสอบทานจากภายนอกหรือไม่

แหล่งที่มา : https://www.thairath.co.th/money/experts_pool/columnist/2819525

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เกี่ยวกับเรา

Orderbride เป็นเว็บไซต์บทความความปลอดภัยในการทำงาน ที่ช่วยเติมเต็มความรู้ด้านความปลอดภัยของคุณในทุกวัน

เรื่องน่าสนใจ

@2024 – All Right Reserved. Designed and Developed by Orderbride