Home » ประเทศไทยจะคว้าโอกาสในยุคทองของ super app ได้อย่างไร

ประเทศไทยจะคว้าโอกาสในยุคทองของ super app ได้อย่างไร

by Andrew Day
30 views

30 กรกฎาคม 2567

ในภูมิภาคอาเซียน ความพยายามในการรวบรวมบริการหลากหลายไว้บนแพลตฟอร์มเดียวกำลังเข้มข้นขึ้นในหมู่ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน โดยได้รับแรงบันดาลใจจากความสำเร็จของซุปเปอร์แอปในประเทศจีน องค์กรชั้นนำต่างตั้งเป้าหมายพัฒนาแพลตฟอร์มให้เป็นผู้นำตลาด รวมถึงในประเทศไทย คำว่าซุปเปอร์แอป” (super app) ถูกสร้างขึ้นโดยไมค์ ลาซาริดิส ผู้ก่อตั้งแบล็คเบอร์รี่ ในปี 2553 ที่งาน Mobile World Congress หมายถึง แพลตฟอร์มดิจิทัลครบวงจรที่นำเสนอบริการหลากหลาย เช่น บริการส่งอาหาร บริการทางการเงิน อีคอมเมิร์ซ บริการเรียกรถ การส่งข้อความ และสาธารณูปโภค บนแพลตฟอร์มเดียวกัน

รายงานจาก Grand View Research บริษัทด้านการตลาดและที่ปรึกษาธุรกิจ เผยว่า ในปี 2565 ตลาดซุปเปอร์แอปทั่วโลกมีมูลค่า 61,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.145 ล้านล้านบาทไทย และคาดว่าจะขยายตัวต่อปีที่ 28% (CAGR) ระหว่างปี 2566 ถึง 2573 ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตมาจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้น การเติบโตของอีคอมเมิร์ซ และการใช้งานระบบชำระเงินดิจิทัล

ซุปเปอร์แอปได้รับความนิยมในเอเชียแปซิฟิกซึ่งมีประชากร 4.3 พันล้านคน หรือประมาณ 60% ของประชากรโลก คาดว่าภูมิภาคนี้จะเติบโตเร็วที่สุดในอนาคต เนื่องจากมีประชากรจำนวนมากที่ยังไม่สามารถเข้าถึงระบบธนาคาร และมีผู้ให้บริการซุปเปอร์แอปที่เปิดให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินและบริการดิจิทัลรูปแบบใหม่ๆ ได้

ตัวอย่างของซุปเปอร์แอปชั้นนำ ได้แก่ WeChat ให้บริการโดย Tencent และ Alipay ให้บริการโดย Alibaba ในประเทศจีน ทั้งสอง คือ จุดประกายที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ซุปเปอร์แอปขึ้น ปัจจุบัน WeChatมีผู้ใช้งานต่อเดือนมากกว่า 1.3 พันล้านราย เป็นหนึ่งในซุปเปอร์แอประดับโลกรายแรกๆ ที่รวมบริการมากมาย ตั้งแต่การเรียกรถโดยสาร การสั่งอาหาร ไปถึงการขอรับบริการทางการแพทย์ การซื้อประกัน หรือบริการที่จอดรถ ส่วน Alipay ของจีนนั้นเป็นซุปเปอร์แอปที่โดดเด่นอีกแอปหนึ่ง รวมถึง Grab จากสิงคโปร์ Gojek ของอินโดนีเซีย และ Kakao Talk ของเกาหลีใต้

สมรภูมิต่อไปของตลาดซุปเปอร์แอปในประเทศไทย

ประเทศไทยมีผู้เล่นในตลาดซุปเปอร์แอปหลายราย เช่น Grab ที่เปิดตัวในไทยเมื่อปี 2557 ปัจจุบันเป็นผู้นำตลาดที่ให้บริการหลายประเภท เช่น บริการเรียกรถ บริการส่งอาหาร และบริการส่งเอกสาร อย่างไรก็ตาม บริการในประเทศไทยยังคงตามหลัง Grab ในอินโดนีเซียอยู่มาก

ในปี 2564 Shopee แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของสิงคโปร์ขยายบริการเพิ่มเติม เปิดตัวบริการส่งอาหาร และให้บริการชำระเงินออนไลน์ผ่าน ShopeePay นอกจากนี้ ยังมีแผนขยายบริการเป็นซุปเปอร์แอป แพลตฟอร์มอื่นๆ เช่น Traveloka จากอินโดนีเซียเน้นในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

สำหรับผู้ให้บริการในไทย เช่น Line Man และ Robinhood ประสบความสำเร็จจากความหลากหลายของบริการที่มีบนแพลตฟอร์ม ทั้งนี้ Robinhood จะปิดบริการในเดือนกรกฎาคม 2567 ในประเทศไทยยังมีผู้ให้บริการอื่นๆ ที่ผันตัวเป็นซุปเปอร์แอปที่จำกัดบริการอยู่ในอุตสาหกรรมหลักของแบรนด์ เช่น TrueMoney ที่ขยายบริการจากกระเป๋าเงินดิจิทัล เป็นซุปเปอร์แอปทางการเงินแบบครบวงจร และ 7-Eleven ที่ครองตลาดค้าปลีก ทั้งการค้าปลีกออนไลน์สู่ออฟไลน์ อีคอมเมิร์ซ บริการทางการเงิน แคมเปญ และความบันเทิง จะเห็นได้ว่าในประเทศไทยนั้น ยังต่างจากประเทศใกล้เคียง คือ ยังไม่มีซุปเปอร์แอปที่ถูกพัฒนาขึ้นเองและให้บริการครอบคลุมหมวดหมู่ที่หลากหลาย

2.ประเทศไทยจะคว้าโอกาสในยุคทองของ super app

7 ปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จของซุปเปอร์แอป

1. บริการหลักชัดเจน : ซุปเปอร์แอปชั้นนำเริ่มต้นจากการแก้ไขปัญหาที่พบในวงกว้าง เช่น การส่งข้อความหรือการชำระเงิน ผ่านอินเทอร์เน็ต การเริ่มต้นสร้างแอปใหม่เพื่อให้เป็นซุปเปอร์แอปนั้นท้าทายมากในยุคดิจิทัลนี้ หนทางสู่ความสำเร็จ คือ การต่อยอดฟังก์ชันจากบริการหลักที่มีฐานผู้ใช้งานมั่นคงอยู่แล้ว

2. บริการที่คนต้องใช้ซ้ำๆ : ซุปเปอร์แอปที่ประสบความสำเร็จมักใช้กลยุทธ์ “hook and expand” ดึงดูดคนด้วยบริการที่ต้องเรียกใช้บ่อยๆ และมีราคาไม่สูงนัก เช่น บริการจัดส่งอาหาร ก่อนที่จะนำเสนอบริการอื่นๆ ที่สามารถทำรายได้สูงกว่า

3. โฟกัสชัดเจน : การกำหนดนิยามและวิสัยทัศน์ของซุปเปอร์แอปต้องชัดเจน เช่น AirAsia เปลี่ยนชื่อเป็น AirAsia Move เพื่อผลักดันยอดขายในบริการที่ทำได้ดีอยู่แล้ว นั่นคือ การเดินทาง

4. ผู้บริโภคไว้ใจ : ความปลอดภัยของข้อมูลและชื่อเสียงของผู้ให้บริการเป็นปัจจัยสำคัญในการเอาชนะใจผู้ใช้งาน

5. สร้างระบบนิเวศรองรับพันธมิตร : การพัฒนาแพลตฟอร์มที่เปิดกว้างต่อพันธมิตรทางธุรกิจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ซุปเปอร์แอปสามารถเติบโตแบบก้าวกระโดด

6. การกำกับดูแลมินิแอป : การบริหารความสมดุลระหว่างการควบคุมและความยืดหยุ่นเป็นสิ่งสำคัญในการกำกับดูแลมินิแอป

7. มีพื้นฐานเทคโนโลยีที่แข็งแกร่ง : เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการเชื่อมต่อระบบ ความสามารถในการสเกลระบบ ความปลอดภัยของข้อมูล และการใช้ AI เพื่อพัฒนาประสบการณ์ที่เจาะจงเฉพาะบุคคล

หนทางข้างหน้า

ในประเทศไทยมีองค์กรที่พร้อมพัฒนาสู่การเป็นซุปเปอร์แอป แต่ความสำเร็จต้องอาศัยกลยุทธ์ที่สอดคล้องกับท้องถิ่น การสร้างซุปเปอร์แอปเป็นการลงทุนระยะยาว และต้องเข้าใจพฤติกรรมผู้ใช้งาน รวมถึงเครือข่ายพันธมิตรธุรกิจที่ช่วยส่งเสริมกัน

แอปพลิเคชันที่มีแนวโน้มปรับตัวไปเป็นซุปเปอร์แอปคือผู้ให้บริการที่มีจุดแข็งในตลาดชัดอยู่แล้วและต้องคิดวิธีการปรับเอานวัตกรรมมาใช้เพื่อสร้างการเติบโตคำถามตั้งต้น คือ

1. จะนำเอาทรัพยากรที่มีอยู่ปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ๆ อย่างไร?

2. พันธมิตรรายใดจะสามารถช่วยเพิ่มบริการใหม่ๆ หรือช่วยให้ทดสอบบริการรูปแบบใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว?

3. ข้อมูลที่มีอยู่ในองค์กรจะนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์เหนือคู่แข่งได้อย่างไร?

4. อะไรคือ ข้อได้เปรียบ หรือความโดดเด่นที่ผู้เล่นรายอื่นไม่สามารถทำได้?

ผมเชื่อว่าด้วยการสร้างกลยุทธ์ซุปเปอร์แอปที่เหมาะสม จะทำให้องค์กรเข้าถึงโอกาสทองนี้ได้

แหล่งที่มา : https://www.ryt9.com/s/prg/3535111

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เกี่ยวกับเรา

Orderbride เป็นเว็บไซต์บทความความปลอดภัยในการทำงาน ที่ช่วยเติมเต็มความรู้ด้านความปลอดภัยของคุณในทุกวัน

@2024 – All Right Reserved. Designed and Developed by Orderbride