Home » อุตสาหกรรมเหล็กไทย ฝ่ามรสุมวิกฤติทุ่มตลาด รักษาฐานการผลิตและความยั่งยืน

อุตสาหกรรมเหล็กไทย ฝ่ามรสุมวิกฤติทุ่มตลาด รักษาฐานการผลิตและความยั่งยืน

by Andrew Day
19 views

5 สิงหาคม 2567

เข้าสู่ครึ่งแรกของไตรมาสที่ 3 ในปี 2567 ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวอย่างช้าๆ จากแรงส่งของภาคการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้นหลังสามารถใช้งบประมาณได้ตามปกติ รวมถึงความหวังว่าการส่งออกไทยจะปรับตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลัง

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของการส่งออกนั้นจะขึ้นอยู่กับภาคการผลิตของไทยเป็นสำคัญ เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัญหาเชิงโครงสร้างของภาคอุตสาหกรรมไทยที่สั่งสมมายาวนานกำลังแตกปะทุ ส่งผลให้หลายอุตสาหกรรมของไทยหลุดจากห่วงโซ่การผลิตโลกและทำให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของไทยติดลบต่อเนื่องมายาวนาน ส่งผลต่อรายได้ของแรงงานในภาคการผลิตที่ฟื้นตัวช้ากว่าภาคอื่น

ยิ่งไปกว่านั้น ผลจากเศรษฐกิจที่ซบเซารุนแรงในช่วงโควิด-19 และมาตรการกีดกันทางการค้าจากทั่วโลกที่มุ่งไปยังจีนทำให้จีนต้องตัดสินใจใช้วิธีเอาตัวรอดด้วยการส่งสินค้าราคาถูกออกไปทุ่มตลาดผู้ค้ารายอื่นในตลาดโลก สร้างผลกระทบรุนแรงต่อผู้ประกอบการในหลายประเทศ รวมทั้งในประเทศไทย

ตลาดเหล็กและอุตสาหกรรมเหล็กของไทย ก็เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่จีนใช้วิธีการทุ่มตลาดมายาวนานหลายปี และนับวันการทุ่มตลาดและการใช้กลวิธีในการหลีกเลี่ยงต่างๆ ยิ่งรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบให้อุตสาหกรรมเหล็กไทยซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศ และเป็นฐานที่เคยมั่นคงให้กับอุตสาหกรรมต่อเนื่องของประเทศไทยเริ่มสั่นคลอนและกำลังต้องการการปกป้องที่เพิ่มขึ้นจากรัฐบาล ด้วยมาตรการกีดกันทางการค้าที่เข้มงวดขึ้น เพื่อให้มีโอกาสกลับขึ้นมาเป็นขุนพลหลักของเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง

ทีมเศรษฐกิจได้สัมภาษณ์นายนาวา จันทนสุรคนประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (...) และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์เหล็กไทยในขณะนี้ ท่ามกลางพายุไต้ฝุ่นที่ถูกส่งมาถล่มจากแดนมังกร รวมถึงร่วมกันหาหนทางรอดของอุตสาหกรรมเหล็กไทยในระยะต่อไป

2.อุตสาหกรรมเหล็กไทย

ไทยกระทบหนักจากการทุ่มตลาดเหล็กของจีน

อุตสาหกรรมหลายภาคของไทยกำลังเผชิญปัญหาอย่างหนัก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็กที่เคยเป็นหนึ่งในพระเอกของการส่งออกสินค้าไทย นายนาวาได้เล่าให้ทีมเศรษฐกิจฟังถึงปัญหาหนักหน่วงที่กำลังถาโถมในวันนี้

อุตสาหกรรมเหล็กของไทยกำลังเผชิญปัญหาใหญ่ 4 ด้านพร้อมกัน ได้แก่

  1. ภาวะตลาดและความต้องการใช้เหล็กที่หดตัว การชะลอตัวทางเศรษฐกิจทำให้ความต้องการใช้เหล็กลดลง จากที่เคยมีความต้องการใช้เหล็กปีละ 20 ล้านตัน เหลือเพียง 16 ล้านตัน
  2. การทุ่มตลาดเหล็กจากจีน ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศจีนประสบปัญหา ทำให้ความต้องการใช้เหล็กภายในจีนถดถอย แต่ผู้ผลิตเหล็กในจีนยังคงผลิตเหล็กออกมาจำนวนมาก และเลือกที่จะส่งออกสินค้าเหล็กมากขึ้น โดยปีที่แล้วจีนส่งออกสินค้าเหล็กรวม 90.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 42% จากปี 2565 และครึ่งแรกของปี 2567 จีนส่งออกเหล็กเพิ่มเป็น 53.4 ล้านตัน ซึ่งหากยังคงการส่งออกในอัตรานี้ตลอดทั้งปี สินค้าเหล็กส่งออกจากจีนจะมีปริมาณสูงสุดในรอบ 9 ปี เกือบ 107 ล้านตัน ทำให้สหรัฐอเมริกาและยุโรปใช้มาตรการป้องกันสินค้าเหล็กจากจีนอย่างจริงจัง ส่งผลให้สินค้าเหล็กส่งออกจากจีนราว 60 ล้านตัน มุ่งสู่ภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก รวมถึงประเทศไทย
  3. การส่งออกเหล็กทางอ้อมจากจีน นอกเหนือจากการส่งออกเหล็กโดยตรง การส่งออกสินค้าสำเร็จรูปที่มีเหล็กเป็นองค์ประกอบก็เพิ่มมากขึ้น เช่น เครื่องจักรกล โครงสร้างอาคารสำเร็จรูป รถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหานี้เช่นกัน
  4. การตั้งโรงงานเหล็กในประเทศไทยจากคู่แข่ง โดยเฉพาะโรงงานเหล็กจากจีนที่ย้ายเครื่องจักรมาผลิตสินค้าเหล็กในไทย ซึ่งซ้ำกับโรงงานเดิมที่มีกำลังการผลิตเหลือเกินความต้องการใช้อยู่แล้ว

มาตรการตอบโต้ของทั่วโลกต่อเหล็กจีน

การแข่งขันที่รุนแรงของสินค้าเหล็กทุ่มตลาดทำให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ใช้มาตรการทางการค้าเพื่อป้องกันอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศ โดยองค์การการค้าโลก (WTO) กำหนดให้ประเทศสมาชิกใช้มาตรการทางการค้า ได้แก่ มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping: AD), มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty: CVD), มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยง (Anti-Circumvention: AC) และมาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard: SG)

สหรัฐอเมริกาและยุโรปได้ใช้นโยบายปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศอย่างร้ายแรง ทั้งมาตรการ AD, AC, CVD และ SG โดยล่าสุดได้เก็บอากรนำเข้าสินค้าเหล็กจีนเพิ่มเป็น 25% ในขณะที่ประเทศในอาเซียนเช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ก็ใช้มาตรการทางการค้าอย่างจริงจังและรวดเร็ว

ปัจจุบันทั่วโลกมีการใช้มาตรการ AD รวม 1,985 มาตรการ อยู่ระหว่างการไต่สวนเพิ่มอีก 205 มาตรการ โดยประเทศที่ถูกใช้มาตรการ AD มากที่สุดคือ จีน (653 มาตรการ) รองลงมาคือ เกาหลีใต้ (135 มาตรการ) อินเดีย (102 มาตรการ) และไต้หวัน (95 มาตรการ) นอกจากนี้ยังมีการใช้มาตรการ CVD รวม 294 มาตรการ และอยู่ระหว่างการไต่สวนเพิ่มอีก 25 มาตรการ โดยประเทศที่ถูกใช้มาตรการ CVD มากที่สุดคือ จีน (146 มาตรการ) รองลงมาคือ อินเดีย (43 มาตรการ) ตุรกี (17 มาตรการ) และเวียดนาม (12 มาตรการ)

ประเทศไทยใช้มาตรการ AD เท่านั้น

สำหรับประเทศไทย ใช้เพียงมาตรการ AD ตาม พ...การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ และยังไม่เคยใช้มาตรการ CVD แม้กฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับมาแล้ว 25 ปี ซึ่งการใช้มาตรการ AD อย่างเดียวไม่เพียงพอในการปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กไทย ทำให้ปัจจุบันสินค้าเหล็กนำเข้ามีส่วนแบ่งตลาดในประเทศมากเกือบ 70% ปริมาณกว่า 11 ล้านตันต่อปี ในขณะที่ผู้ผลิตเหล็กในไทยผลิตเหล็กเพียงปีละ 5 ล้านตัน และใช้กำลังการผลิตน้อยกว่า 30% ของกำลังการผลิตเหล็กที่มีทั้งหมด

เชียร์รัฐสู้เพิ่มความเข้มมาตรการ

กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กแสดงการสนับสนุนการบังคับใช้มาตรการทางการค้าของภาครัฐ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการทุ่มตลาดเหล็กและการเลี่ยงอากรจากจีนมาอย่างยาวนาน ซึ่งส่งผลเสียหายรุนแรงต่ออุตสาหกรรมเหล็กไทย และยังกระทบต่อการจ้างงานและเศรษฐกิจของประเทศ

นายนาวาได้กล่าวสนับสนุนกระทรวงพาณิชย์และคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขา ที่ได้พิจารณาข้อมูลจากทุกภาคส่วนอย่างรอบด้านและเป็นธรรม และตัดสินใจใช้มาตรการเพิ่มเติม นอกเหนือจากมาตรการ AD ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว

โดยได้ออกมาตรการเพิ่มเติม ประกาศใช้มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยง (AC) เป็นครั้งแรกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อตอบโต้ผู้ผลิตเหล็กจากประเทศจีนที่ใช้วิธีเปลี่ยนการเจือสารอัลลอยต่างๆ ในเหล็กแผ่นรีดร้อนปกติ เป็นเหล็กแผ่นรีดร้อนเจือโบรอน โครเมียม และไททาเนียม เพื่อเลี่ยงการจ่ายอากรตอบโต้การทุ่มตลาด

ในระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา ปริมาณนำเข้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออัลลอยได้เพิ่มจากเดือนละ 3,000 ตัน เป็นเดือนละ 90,000-140,000 ตัน ทำให้ไทยสูญเสียรายได้จากอากรตอบโต้ทุ่มตลาดที่ถูกหลบเลี่ยงหลายหมื่นล้านบาท และหากปล่อยให้สินค้าเหล็กจีนดังกล่าวทะลักเข้ามายังประเทศไทย อาจส่งผลให้อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศต้องปิดตัวลง ซึ่งจะกระทบต่อการจ้างงานและเศรษฐกิจอย่างรุนแรง

ยังมีสินค้าเหล็กอีกหลายประเภทที่เผชิญการทุ่มตลาดจากต่างประเทศ เช่น ท่อเหล็ก เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นรีดเย็นชุบสังกะสีแบบจุ่มร้อน และเหล็กแผ่นเคลือบสี ซึ่งจำเป็นต้องมีการใช้มาตรการทางการค้าอย่างเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการตอบโต้การอุดหนุน มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยง (AC) มาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (SG) หรือมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (CVD)

3.อุตสาหกรรมเหล็กไทย

ความสำคัญของอุตสาหกรรมเหล็กไทย

นายนาวาเน้นว่าอุตสาหกรรมเหล็กมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของชาติ และเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานที่ต้องมั่นคงของอุตสาหกรรมไทย แต่ปัจจุบันไทยนำเข้าสุทธิสินค้าเหล็กสูงถึง 12 ล้านตันต่อปี ซึ่งมากที่สุดเป็นลำดับที่ 4 ของโลก รองจากอเมริกา อียิปต์ และเม็กซิโก โดยมีมูลค่าการนำเข้าราว 600,000 ล้านบาทต่อปี

ในขณะนี้ อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศตกอยู่ในภาวะวิกฤติ หลายโรงงานต้องปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงาน เนื่องจากสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับการทุ่มตลาดและการค้าเหล็กที่ไม่เป็นธรรมจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นที่น่าเสียดาย เพราะในอดีตไทยเคยเป็นผู้นำในอาเซียน ทั้งในแง่ของตลาดและการผลิตเหล็ก

การฟื้นฟูอุตสาหกรรมเหล็กไทย

เพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมเหล็กไทย กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กพร้อมปรับตัวเพื่อความอยู่รอดและเติบโตอย่างยั่งยืนใน 3 มิติ คือ

  1. การสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบ รองรับการบริโภคเหล็กและอุตสาหกรรมต่อเนื่องของไทยราว 16-20 ล้านตันต่อปี
  2. ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเหล็กให้สมดุล โดยเพิ่มกำลังการผลิตในสินค้าเหล็กที่ยังต้องพึ่งพาการนำเข้า และลดกำลังการผลิตในบางประเภทสินค้าเหล็กที่มีกำลังการผลิตเกินความต้องการภายในประเทศ หรือหาตลาดส่งออกในประเทศพันธมิตรมากขึ้น
  3. พัฒนากระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์สินค้าเหล็ก โดยมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อลดปัญหาโลกร้อน

หากภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันในการใช้มาตรการการค้าเพิ่มเติม และการยกระดับโครงสร้างของผู้ประกอบการไทย ก็มีโอกาสที่อุตสาหกรรมเหล็กไทยจะกลับมาเป็นหลักสร้างความมั่นคงให้กับห่วงโซ่อุตสาหกรรมของประเทศ และเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน

แหล่งที่มา : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ/2805398

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เกี่ยวกับเรา

Orderbride เป็นเว็บไซต์บทความความปลอดภัยในการทำงาน ที่ช่วยเติมเต็มความรู้ด้านความปลอดภัยของคุณในทุกวัน

@2024 – All Right Reserved. Designed and Developed by Orderbride