บทบาทหน้าที่ของ จป.บริหาร ต้องเดินสำรวจความปลอดภัยหรือไม่
ตามกฎกระทรวงการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงานหรือคณะบุคคลเพื่อ ดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. 2565 ได้กำหนดไว้ว่า นายจ้างของสถานประกอบกิจการตามบัญชี 1 และบัญชี 2 ที่มีลูกจ้างจำนวน 2 คนขึ้นไป และสถานประกอบกิจการตามบัญชี 3 ที่มีลูกจ้าง 20 คนขึ้นไป ต้องจัดให้ลูกจ้างระดับผู้บริหารซึ่งมีคุณสมบัติตามข้อ 11 ทุกคน เป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับบริหารของสถานประกอบกิจการ นั่นหมายความว่า ผู้บริหารทุกคน ต้องได้รับการแต่งตั้งและขึ้นทะเบียนเป็น จป.บริหาร โดยตำแหน่ง ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
1. จป.บริหาร มีหน้าที่อะไร
ตามกฎกระทรวงการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงานหรือคณะบุคคลเพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. 2565 ได้กำหนดหน้าที่ของ จป.บริหารไว้ 4 ข้อ ดังนี้
- กำกับดูแลเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานทุกระดับซึ่งอยู่ในบังคับบัญชาของตน
- เสนอแผนงานหรือโครงการด้านความปลอดภัยในการทำงานในหน่วยงานที่รับผิดชอบต่อนายจ้าง
- ส่งเสริม สบับสนุน และติดตามการดำเนินงานเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานให้เป็นไปตามแผนงานหรือ โครงการ เพื่อให้มีการจัดการด้านความปลอดภัยในการทำงานที่เหมาะสมกับสถานประกอบกิจการ
- กำกับดูแลและติดตามให้มีการแก้ไขข้อบกพร่องเพื่อความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้างตามที่ได้รับรายงานหรือตามข้อเสนอแนะของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน คณะกรรมการความปลอดภัย หรือหน่วยงานความปลอดภัย
2. จป.บริหาร ต้องเดินสำรวจความปลอดภัย หรือไม่
หน้าที่ของ จป.บริหาร ตามกฎกระทรวงการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงานหรือคณะบุคคลเพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. 2565 ไม่ได้เขียนไว้โดยตรงว่า จป.บริหาร จะต้องเดินสำรวจความปลอดภัย แต่ด้วยหน้าที่และตำแหน่ง จป.บริหาร ก็ควรเดินสำรวจความปลอดภัยภายในแผนกหรือพื้นที่ที่ตนเองรับผิดชอบ เพื่อเป็นการดูภาพรวมในเรื่องของความปลอดภัย และเป็นการกำกับดูแลเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของตน ซึ่งหาก จป.บริหาร ไม่ลงหน้างาน ก็จะไม่ทราบถึงข้อมูลที่แท้จริง
และการที่ จป.บริหารจะเสนอแผนงานหรือโครงการด้านความปลอดภัยในการทำงาน ตามหน้าที่ที่ระบุไว้ในกฎหมายแล้ว ย่อมต้องดูหน้างานประกอบกับรายงานที่ จป.ระดับอื่นๆ แจ้งมา เพราะ จป.หัวหน้างาน หรือ จป.วิชาชีพเอง มีการเดินสำรวจความปลอดภัยเป็นประจำ อาจทำให้มองข้ามหรือมองไม่เห็นสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้น ซึ่งหาก จป.บริหารลงไปเดินสำรวจความปลอดภัย อาจเห็นอะไรที่แตกต่างออกไป ทำให้แนวคิดในการปรับปรุงหรือแก้ไขมีมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น และยังสามารถพิจารณาถึงงบประมาณในการแก้ไข ปรับปรุง หน้างานได้อย่างเหมาะสม และยังเห็นถึงความเร่งด่วนในการแก้ไขอีกด้วย
ซึ่งในการเดินสำรวจความปลอดภัยของ จป.บริหารอาจจะไม่ต้องลงไปเดินหน้างานทุกวันอาจจะเดินสัปดาห์ละครั้งหรือกำหนดเป็นกิจกรรม Safety Patrol ที่กำหนดให้จป.บริหารจะต้องเข้าร่วมด้วยเพื่อให้เห็นถึงความสำคัญของความปลอดภัยในการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชาที่ตนดูแลอยู่และการลงหน้างานของ จป.บริหารยังเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับพนักงานทำให้เห็นว่าจป.บริหารใส่ใจและให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยในการทำงานของพนักงานอีกด้วย
3. ประโยชน์ของการเดินสำรวจความปลอดภัยของ จป.บริหาร
การเดินสำรวจความปลอดภัยของ จป.บริหาร นอกจากดูภาพรวมเรื่องความปลอดภัย ภายในแผนกหรือพื้นที่ ที่ตนเองรับผิดชอบแล้ว ยังมีประโยชน์ข้ออื่นอีก เช่น
- ทำให้ทราบถึงปัญหาที่แท้จริง
- สามารถพิจารณางบประมาณและความเร่งด่วนในการแก้ปัญหา
- มีมุมมองในการแก้ไขปัญหาที่แตกต่างจาก จป.ระดับอื่น
- แสดงถึงความห่วงใยผู้ใต้บังคับบัญชาที่ตนดูแลอยู่
- เป็นการสนับสนุนงานด้านความปลอดภัยของสถานประกอบกิจการ
สรุป
ในการเดินตรวจความปลอดภัยในการทำงานของ จป.บริหารอาจไม่ต้องเดินทุกวันเหมือน จป.หัวหน้างาน หรือ จป.วิชาชีพความถี่ในการเดินตรวจความปลอดภัยของ จป.บริหารอาจจะสัปดาห์ละครั้งหรือตามแผนการทำกิจกรรมที่กำหนดขึ้นการเดินตรวจความปลอดภัยทำให้สามารถเห็นถึงปัญหาที่แท้จริงสภาพแวดล้อมในการทำงานของพนักงานซึ่งเมื่อ จป.บริหารลงหน้างานจริงก็จะสามารถทราบถึงปัญหาและพิจารณาอนุมัติงบประมาณได้อย่างเหมาะสมและยังทำให้พนักงานเห็นว่า จป.บริหารมีความใส่ใจเรื่องความปลอดภัยในการทำงานด้วย
หากคุณสนใจศึกษาการทำงานหรือขอบเขตความรับผิดชอบของ จป.บริหาร ตามกฎหมายอย่างถูกต้องสามารถเข้าอบรม จป.บริหาร ที่จะปูนเนื้อหาการทำงานด้านความปลอดภัยพื้นฐานจนถึงการวิเคราะห์อันตรายจากกระบวนการทำงานของสถานประกอบการนั้นๆ
บทความที่น่าสนใจ :
- ขั้นตอนการขึ้นทะเบียน เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน
- การจัดสวัสดิการให้พนักงานในองค์กรตามกฎหมายที่ถูกต้องมีอะไรบ้าง
- คณะกรรมการความปลอดภัย คปอ. หมายถึงใคร มีหน้าที่อะไรบ้าง
- คปอ มีวาระงานกี่ปี และมีหน้าที่อะไรบ้างในสถานประกอบการ
- บทบาทของ จป เทคนิค ในอุตสาหกรรมสมัยใหม่